ความชื้นของอากาศ
ความชื้นของอากาศ คืออะไร
ความชื้นของอากาศ คือ ปริมาณไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ถ้าอากาศมีความชื้นต่ำ น้ำจะเกิดการระเหยได้มาก เสื้อผ้าที่ตากไว้จะแห้งเร็ว แต่ถ้าอากาศมีความชื้นสูง น้ำจะระเหยได้น้อย เสื้อผ้าที่ตากไว้จะแห้งช้า ขณะที่น้ำเกิดการระเหยจะทำให้อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมลดต่ำลง เนื่องจากน้ำที่ระเหยจะดูดความร้อนจากสิ่งต่าง ๆไปใช้ในการระเหยนั่นเอง เช่น อุณหภูมิของเทอร์มอร์มิเตอร์เปียกลดต่ำลง อุณหภูมิของน้ำในตุ่มดินเผาลดต่ำลง เป็นต้น การที่น้ำในตุ่มดินเผาเย็นกว่าน้ำที่เก็บในภาชนะอื่นนั้น เนื่องจากตุ่มดินเผามีลักษณะรูพรุน ซึ่งน้ำสามารถระเหยออกมาได้ จึงทำให้อุณหภูมิของตุ่มและน้ำลดต่ำลง น้ำในตุ่มดินเผาจึงเย็นกว่าดังกล่าว
อากาศอิ่มตัว คือ อากาศที่มีไอน้ำอยู่เต็มที่และไม่สามารถรับเพิ่มได้อีกแล้ว ณ อุณหภูมิหนึ่ง
ปัจจัยที่มีผลต่อการระเหยของความชื้นของอากาศ
1. อุณหภูมิเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นการระเหยจะเกิดเร็วขึ้น
2. พื้นที่ผิวถ้าพื้นที่ผิวหน้ามากขึ้นการระเหยจะเกิดได้ดี
3. ความชื้นในอากาศถ้าในอากาศมีความชื้นสูงการระเหยจะเกิดได้ยาก
4. ชนิดของสาร ของเหลวที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลสูงจะมีค่าความร้อนแฝงสูงกลายเป็นไอได้ยากความดันไอต่ำ แต่จุดเดือดสูง
เมื่อโลกได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ น้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ บนโลกจะระเหยกลายเป็นไอน้ำลอยอยู่ในอากาศปะปนกับแก๊สต่าง ๆ ปริมาณไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศนี้ เรียกว่า ความชื้นของอากาศ
ปริมาณไอน้ำที่อากาศรับไว้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของบรรยากาศ ถ้าอุณหภูมิสูงอากาศจะรับไอน้ำได้มาก ถ้าอุณหภูมิต่ำอากาศจะรับไอน้ำได้น้อย ถ้าอากาศอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถรับไอน้ำได้อีก แสดงว่าอากาศขณะนั้นอิ่มตัวด้วยไอน้ำ เรียกสภาวะนี้ว่า อากาศอิ่มตัวด้วยไอน้ำ หรืออากาศอิ่มตัว ซึ่งเป็นสภาวะที่อากาศมีความชื้นมากที่สุด
อากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ณ อุณหภูมิต่าง ๆกัน จะรับไอน้ำได้ดังนี้
- ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส อากาศรับไอน้ำได้มากที่สุดประมาณ 9.3 กรัม
- ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส อากาศรับไอน้ำได้มากที่สุดประมาณ 17.5 กรัม
- ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส อากาศรับไอน้ำได้มากที่สุดประมาณ 30.5 กรัม
การวัด ความชื้นของอากาศ
เรามีวิธีบอกค่าความชื้นของอากาศได้ 2 วิธี คือ
1) ความชื้นสัมบูรณ์ (absolute humidity) หมายถึง อัตราส่วนระหว่างมวลของไอน้ำอากาศกับปริมาตรของอากาศนั้น ณ อุณหภูมิเดียวกัน มีหน่วยเป็นกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (g / m3)
ความชื้นสัมบูรณ์ (AH) = มวลของไอน้ำในอากาศ ปริมาตรของอากาศ ณ อุณหภูมิเดียวกัน
ตัวอย่าง อากาศในที่แห่งหนึ่งมีปริมาตร 8 ลูกบาศก์เมตร ณ อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส มีไอน้ำอยู่ 32 กรัม ความชื้นสัมบูรณ์มีค่าเท่าไร
ความชื้นสัมบูรณ์ = 32 กรัม
8 ลูกบาศก์เมตร = 4 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร
2) ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) คือ ปริมาณเปรียบเทียบระหว่างมวลของไอน้ำที่มีอยู่จริงในอากาศขณะนั้นกับมวลไอน้ำในอากาศอิ่มตัวที่อุณหภูมิและปริมาตรเดียวกัน (นิยมบอกค่าความชื้นสัมพัทธ์เป็นร้อยละ)
ความชื้นสัมพัทธ์ (RH) = มวลของไอน้ำที่มีอยู่จริง × 100 มวลของไอน้ำในอากาศอิ่มตัวที่อุณหภูมิและปริมาตรเดียวกัน
ตัวอย่าง ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส อากาศอิ่มตัวด้วยไอน้ำ 180 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนั้น มีไอน้ำอยู่จริงเพียง 135 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความชื้นสัมพัทธ์มีค่าเท่าไร
ความชื้นสัมพัทธ์ = 135 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร × 100
180 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร = 75 %
แหล่งที่มา : ความชื้นของอากาศ ครูไพรวัลย์ วงศ์ดี